คลังพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปก ครั้งที่ 29 ดันเศรษฐกิจดิจิทัล

คลังพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปก ครั้งที่ 29 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การคลังยั่งยืน ช่วยเอกชน-เอสเอ็มอี ระดมแหล่งเงิน

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คลังพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปก ครั้งที่ 29 ปี 2565 โดยจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกเอเปก 21 เขตเศรษฐกิจในหัวข้อ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน พร้อมกับสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือบีซีจี

“ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกปี’65 กระทรวงการคลังจะจัดการประชุมภายใต้กรอบการประชุม รมว.คลังเอเปก ทั้งสิ้น 3 การประชุม ได้แก่ การประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปก วันที่ 16-17 มี.ค. 65 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นจะประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปก วันที่ 23-24 มิ.ย. 65 ณ จังหวัดขอนแก่น และการประชุม รมว.คลัง เอเปก ครั้งที่ 29 วันที่ 19-21 ต.ค. 65”

สำหรับกรอบการประชุม ประจำปี 2565 คลังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กำหนดประเด็นสำคัญที่ต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมมือในสมาชิก ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาแหล่งทุนของภาครัฐ การออกพันธบัตรรัฐบาล และการร่วมทุนรัฐและเอกชน รวมถึงการจัดหาแหล่งทุนสำหรับภาคเอกชน

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเชื่อมโยงการชำระเงินในภาคการเงิน การระดมทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ

“การประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ไทยนำเสนอผลสำเร็จจากนโยบายเศรษฐกิจ เช่น แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง โครงการคนละครึ่ง ซึ่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลดำเนินมาตรการเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และคาดหวังว่าผลที่ได้รับจะช่วยส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีโลก ส่งเสริมการค้าและการลงทุน ตลอดจนก่อให้เกิดกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในท้องถิ่น”

“นอกจากนี้ ยังช่วยให้ประชาชน เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงิน การโอน และชำระเงินที่สะดวก ประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น ก่อนหน้านี้ระบบพร้อมเพย์ของไทย ได้เชื่อมเข้ากับเพย์ นาว ของสิงคโปร์ ทำให้สามารถชำระเงินถึงกันได้เลย”

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance

You may also like...