ยังไม่จบ!ประมูลทะเบียนรถพิเศษ โกยรายได้ 282 ล. เก็บตก 22 เม.ย. คาดยอดพุ่งทะลุ 300 ล้าน

นายจิรุตม์ วิศาลจิต อธิบดีกรมขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดเผยความคืบหน้าการเปิดประมูลหมายเลขทะเบียนรถที่มีลักษณะพิเศษ สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน จำนวน 84 หมายเลขซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) และทางเว็บไซต์ www.tabienrod.com ว่า ได้มีประมูล 82 หมายเลข เนื่องจากอีก 2 หมายเลข ไม่มีผู้มาวางเงินหลักประกันและลงทะเบียนล่วงหน้า อีกทั้งได้เกิดระบบขัดข้องในระหว่างที่มีการประมูล ทำให้ประมูลได้เพียง 63 หมายเลข ส่วนอีก 19 หมายเลข ซึ่งค้างที่การประมูล มรรค 8 มีผู้ประมูลอยู่ที่ 2,280,000 บาท โดยได้มีการเลื่อนจะนำออกไปประมูลในวันที่ 22 เม.ย.นี้

สำหรับ 5 หมายเลขที่มียอดประมูลมากที่สุด ได้แก่ “รวย 9999” ประมูลอยูที่ 18.5 ล้าน “เศรษฐี 1” ราคาประมูลอยู่ที่ 15.4 ล้าน “สวย 1” ราคาประมูลอยู่ที่ 13 ล้าน “เศรษฐี 8”ประมูลอยู่ที่ 12.6 ล้าน และ “รวย 8888” ราคาประมูล 11.1 ล้านบาท ส่วน 63 ป้ายที่ประมูลแล้วเสร็จ คิดเป็นเงิน 282 ล้าน ซึ่งยังเหลืออีก 19 ป้ายทะเบียนที่จะเลื่อนประมูลในวันที่ 22 เม.ย.2565 ซึ่งคาดว่าจะมียอดประมูลประมาณ 20-30 ล้าน

สำหรับการประมูลป้ายทะเบียนพิเศษพบว่ามีผู้ที่สนใจร่วมลงทะเบียนรวม 595 ราย เป็นการร่วมประมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ต จำนวน 308 ราย ส่วนการประมูลด้วยวาจาที่ห้องประมูล 287 ราย โดยเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถที่มีลักษณะพิเศษ ที่สามารถมีตัวอักษรมากกว่าสองตัวหรือมีตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์ รวมกับหมายเลขทะเบียนไม่เกิน 7 หลัก นำมาเปิดประมูล ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) เพื่อนำไปส่งเสริมกิจกรรมทางด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“สคร.” เผยรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สิ้น Q2 ปีงบ 65 แตะ 6.63 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 46%

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565) สคร. จัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจ และกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% รวมทั้งสิ้นจำนวน 66,372 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการสะสมจำนวน 8,521 ล้านบาท หรือคิดเป็น 46% ของเป้าหมายการจัดเก็บในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 142,800 ล้านบาท

สำหรับเงินนำส่งรายได้แผ่นดินส่วนใหญ่ มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, บมจ. ปตท. (PTT) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และธนาคารออมสิน โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด 10 อันดับแรก ณ สิ้นไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2565 มีดังนี้

1.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 23,644 ล้านบาท

2.บมจ.ปตท. (PTT) 17,519 ล้านบาท

3.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 6,419 ล้านบาท

4.ธนาคารออมสิน 5,313 ล้านบาท

5.การท่าเรือแห่งประเทศไทย 2,610 ล้านบาท

6.การไฟฟ้านครหลวง 2,587 ล้านบาท

7.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 2,374 ล้านบาท

8.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 1,400 ล้านบาท

9.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1,345 ล้านบาท

10.การประปาส่วนภูมิภาค 746 ล้านบาท

11.อื่นๆ และกิจการฯ 2,415 ล้านบาท

นางปานทิพย์ กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2565 จะเป็นการจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากผลประกอบการในปี 2564 ของรัฐวิสาหกิจ จึงมีความเป็นไปได้ที่ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 ของรัฐวิสาหกิจอาจยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ผ่านมา ซึ่ง สคร.จะได้มีการติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด โดยจะพิจารณาประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่รัฐวิสาหกิจจะต้องเข้าไปดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชน และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การกำกับติดตามการนำส่งเงินรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างเสถียรภาพทางการคลังได้อย่างยั่งยืน

อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy

You may also like...